วันอาทิตย์ที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2557

เทคนิคการละเล่นเพลงอีแซวของศิลปินภูมิปัญญาท้องถิ่น จังหวัดสุพรรณบุรี






การจัดการความรู้

  เรื่อง เทคนิคการละเล่นเพลงอีแซวของศิลปินภูมิปัญญาท้องถิ่น 

จังหวัดสุพรรณบุรี

  ...........................................................................
โดย วิทยาลัยนาฏศิลปสุพรรณบุรี
สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ กระทรวงวัฒนธรรม





เทคนิคการละเล่นเพลงอีแซวของศิลปินภูมิปัญญาท้องถิ่น จังหวัดสุพรรณบุรี
จากการแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างศิลปินภูมิปัญญาด้านเพลงพื้นบ้านของจังหวัดสุพรรณบุรี และครู อาจารย์ ของวิทยาลัยนาฏศิลปสุพรรณบุรี ที่มีความรู้ ความสามารถในการละเล่นเพลงอีแซว  สามารถนำความรู้ของแต่ละบุคคล สู่กระบวนการจัดการความรู้อย่างเป็นระบบ  พบว่าการที่ศิลปินหรือผู้แสดงเพลงอีแซว   จะประสบผลสำเร็จในการแสดงหรือสามารถเล่นเพลงอีแซวของสุพรรณบุรีได้นั้น  จักต้องมีวิธีในการปฏิบัติเฉพาะทางที่เราเรียกว่าเทคนิค โดยประมวลองค์ความรู้ได้ ดังนี้ คือ
๑.     ด้านตัวศิลปินหรือผู้แสดง
๒.     ด้านขนบนิยมและแนวปฏิบัติที่ดี
๓.     ด้านองค์ประกอบการแสดง
    โดยทั้ง ๓  ด้าน มีแนวทางการปฏิบัติ ตลอดจนวิธีการที่จะพัฒนาการละเล่นการแสดงเพลงอีแซว ให้มีมาตรฐานและสามารถดำรงอยู่อย่างมั่นคง ตามแบบอย่างของครูผู้ถ่ายทอด โดยจำแนกเป็นรายละเอียด ดังนี้

๑. ด้านตัวศิลปินหรือผู้แสดง
          ๑.๑  การเรียนรู้เริ่มต้นของศิลปิน  นับเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง สำหรับบุคคลที่จะเรียนรู้และฝึกเพลงอีแซว การเริ่มต้นของศิลปินในการฝึกหัดต้องมาจาก ความสนใจ ใส่ใจ และชอบที่จะเรียนรู้ ฝึกหัดเพลงอีแซว ด้วยความมุ่งมั่น ขยันหมั่นเพียร เอาใจใส่ ควบคู่กับพรสวรรค์ที่มีอยู่ในตัวตน คนที่มีพรสวรรค์ด้านเสียง ถือเป็นพื้นฐานที่ดีในการร้องเพลงอีแซวมากกว่าคนที่ไม่มีพรสวรรค์ด้านเสียง หากแต่พรสวรรค์เป็นเพียงทุนเริ่มต้นของศิลปินที่ติดตัวมา  การเรียนรู้เพลงอีแซวควรมาจากความเต็มใจ ความสมัครใจ โดยไม่มีการบังคับ สิ่งนี้นับเป็นจุดเริ่มต้นของการฝึกหัดที่จะส่งผลให้พบกับความสำเร็จก้าวแรกของการแสดงเพลงอีแซว  สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งถ้าผู้เรียนขาดการเอาใจใส่ ไม่พัฒนาตัวเองให้เกิดทักษะที่ดีขึ้น ย่อมนำไปสู่ความล้มเหลวของการเป็นมืออาชีพ หรือแม่เพลง พ่อเพลงที่ดีในอนาคต 
            ๑.๒  การได้รับการถ่ายทอดจากต้นแบบที่มีคุณภาพ  ในที่นี้หมายถึงครูผู้ถ่ายทอดเพลงอีแซวจะต้องเป็นผู้ที่มีภูมิรู้ภูมิหลังเกี่ยวกับการแสดงเพลงอีแซวอย่างดียิ่ง มีประสบการณ์ในการแสดงที่สั่งสมมาอย่างยาวนาน และสามารถถ่ายทอดให้แก่ศิษย์อย่างครบถ้วน องค์ประกอบของการแสดง สามารถบอกให้ทำรำให้ดู รอบรู้ในบทกลอนอย่างชำนาญ เมื่อศิษย์ได้เห็นต้นแบบจากครู จึงเกิดการเรียนรู้และปฏิบัติตามต้นแบบที่ได้รับการถ่ายทอด รวมทั้งเป็นการสืบทอดแนวทางการแสดงเพลงอีแซวที่มีมาแต่โบราณได้เป็นอย่างดี
            ๑.๓  เป็นผู้มีทักษะด้านภาษาไทย  การแสดงเพลงอีแซวหรือเพลงพื้นบ้านทั่ว ๆ ไป ความสำคัญประการหนึ่ง คือ ทักษะด้านภาษาไทย ทั้งในด้านการพูด การฟัง การอ่าน การเขียนล้วนแล้วมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงต่อกันทั้งสิ้น การพูดที่ชัดถ้อยคำ ถูกอักขรวิธี  จะทำให้การแสดง มีความน่าสนใจ  การใช้น้ำหนักเสียงเบา ดัง ต่ำ ทุ้ม สูง ตามบทร้อง ช่วยเสริมสร้างอรรถรสในการฟังของผู้ชมได้เป็นอย่างดี  นอกจากนี้ผู้แสดงเพลงอีแซวที่มีทักษะการใช้ภาษาไทยเป็นอย่างดีก่อให้เกิดความแตกฉานด้านการแต่งคำร้อง ให้มีความหลากหลายในการแสดงอย่างเหมาะสม ซึ่งในปัจจุบันนิยมแนวการแสดงที่ตรงกับกลุ่มผู้ชม และลักษณะงานตามโอกาสต่างๆ การเข้าใจความหมายคำร้อง หรือคำพูดของผู้แสดงเป็นสิ่งสำคัญที่จะถ่ายทอดให้ผู้ฟังเกิดจินตนาการ อารมณ์ร่วม และคล้อยตาม รวมทั้งมีความสนุกสนาน และความประทับใจการแสดง ทั้งหมดนี้มาจากคุณลักษณะการเป็นผู้มีทักษะด้านภาษาไทยที่ดีทั้งสิ้น
            ๑.๔  การเป็นคนช่างสังเกตและวิธีครูพักลักจำ  วิธีการนี้เป็นสิ่งที่ศิลปิน หรือผู้เล่นเพลง ผู้ฝึกหัดเพลง    อีแซวจะต้องมีอยู่ในตัวตน มิได้หมายความว่าจะต้องลอกเลียนแบบมาทุกอย่างหากแต่นำมาใช้เป็นแนวทางที่เหมาะสมกับตน ได้แก่ การสังเกต วิธีการร้อง การใช้เสียง การพูดการโต้ตอบรับส่งคำร้องและคำพูด การใช้ท่าทาง การเดิน การหยอกล้อ เป็นต้น สิ่งต่างๆเหล่านี้บางครั้งครูผู้ถ่ายทอดไม่สามารถสอนให้ทำตามได้ทุกคน แต่ครูอาจนำมาแสดงให้เห็นบ่อยครั้งจนศิษย์ยึดเป็นแนวทางการเล่นที่ดี และปฏิบัติสืบต่อกันมา  การเป็นคนช่างสังเกตและครูพักลักจำถือว่าเป็นพรแสวงที่นักแสดงควรมีไว้เป็นคุณสมบัติที่สำคัญ เป็นสิ่งที่ช่วยให้พ่อเพลงและแม่เพลง อีแซวมีแนวทางในการแสดงและเสริมสร้างความเชื่อมั่นในตนเอง สามารถแสดงออกมาให้มีความสนุกสนานยิ่งขึ้น รวมทั้งเป็นการอนุรักษ์แนวการแสดงของครูที่มีมาแต่โบราณให้คงอยู่และเผยแพร่สู่คนหรือผู้ชมในยุคปัจจุบัน
            ๑.๕  การมีปฏิภาณไหวพริบและเชาว์ปัญญาในการแสดง  การละเล่นของไทยที่เป็นการแสดงของ     ชาวบ้านที่มีการโต้ตอบกันนั้น จะไม่มีการเขียนหรือแต่งเป็นบทสำหรับการแสดงดังเช่นการแสดง โขน ละคร ของหลวงที่มีมาแต่โบราณ  เพลงอีแซว ถือเป็นการแสดง ที่ต้องใช้ทั้งวัจนภาษาและอวัจนภาษา ไม่มีการกำหนดบทพูดให้ ต้องเป็นไปตามการแสดงจริง ดังนั้นผู้เล่นเพลงจึงต้องฝึกการโต้ตอบทั้งในการร้องและการพูดให้สอดคล้องกัน  รู้จักแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้อย่างทันท่วงที ในกรณีที่ต้องดำเนินการแสดงนอกกรอบที่วางไว้ ต้องใช้ความสามารถในการคิดแก้ไขสถานการณ์การแสดงอย่างฉับพลัน  ถ้าเป็นการโต้กลอนยิ่งเป็นการแสดงความสามารถของพ่อเพลงแม่เพลงได้อย่างชัดเจน ซึ่งการมีปฏิภาณไหวพริบและเชาว์ปัญญาในการแสดง  ย่อมมาจากประสบการณ์และระยะเวลาในการแสดงที่ยาวนานพอสมควร
            ๑.๖  สมาธิในการแสดง  สมาธิ ในความหมายของการเล่นเพลง หมายถึง การมีสติ รับรู้สถานภาพและสถานการณ์ในการแสดงเพลงพื้นบ้าน ด้วยความสนใจ ใส่ใจ ตั้งแต่เริ่มต้นจนเสร็จสิ้นการแสดง  การเล่นเพลงพื้นบ้านจุดสำคัญคือการโต้ตอบคำร้อง และคำพูดของฝ่ายตรงข้าม โดยให้สัมพันธ์กัน ไม่นอกประเด็นเนื้อหาในการแสดง  บางคนลืมบทกลอนที่ตนเองจะต้องร้อง ลืมคำพูดที่จะต้องโต้ตอบ ทำให้เสียอรรถรสในการแสดง เพราะขาดสมาธิ   ยิ่งในปัจจุบันมีสื่อสมัยใหม่ อันเป็นนวัตกรรมเทคโนโลยีที่ล้ำหน้า เข้ามามีอิทธิพลกับชีวิตประจำวันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทำให้ พ่อเพลง แม่เพลง บางคนขาดความใส่ใจในการเตรียมตัวก่อนการแสดง เพราะขวักไขว่ในการเล่นสื่อ นวัตกรรมเหล่านี้ มากเกินไป พอถึงเวลาแสดง จึงขาดสมาธิ ทำให้บกพร่องและส่งผลกระทบกับผู้แสดงคนอื่น ๆ อีกด้วย  ดังนั้นผู้แสดงจึงควรตระหนักถึงการมีสมาธิให้มากขึ้น และควรละเว้นสิ่งที่ไม่พึงปฏิบัติก่อนการเล่นเพลง หันมาทำสมาธิ   เพื่อพร้อมสู่เวทีการแสดง
            จุดเริ่มต้นของการแสดงเพลงอีแซว มาจากตัวผู้ฝึกเองเป็นสำคัญ โดยได้รับการถ่ายทอดที่ดี จากครูเพลง    การมีทักษะภาษาไทย การเป็นคนช่างสังเกต และคุณสมบัติครูพักลักจำ รวมทั้งประสบการณ์ต่างๆที่ผู้แสดง หรือ    พ่อเพลงแม่เพลง จะต้องเป็นผู้สร้างขึ้นมาอันเป็นพรแสวงที่ควบคู่กับพรสวรรค์ ความเอาใจใส่ ขยันหมั่นเพียร  ศึกษาและเรียนรู้อย่างมีทักษะ มีปฏิภาณไหวพริบ พร้อมสมาธิที่มุ่งมั่น นับเป็นจุดเริ่มต้นหรือก้าวแรกของการเล่นเพลงอีแซว ที่ดีอันเป็นความพร้อมที่ศิลปินต้องยึดเป็นแนวทางเพื่อการเป็นมืออาชีพในโอกาสต่อไป

๒.  ด้านขนบนิยมและแนวปฏิบัติที่ดี
            ๒.๑  การเคารพนับถือครูผู้ประสิทธิ์ ประสาทวิชา  ครูคือผู้ถ่ายทอดสรรพวิชาให้แก่ศิษย์ ครูเพลงพื้นบ้าน เช่นเดียวกัน ท่านเป็นผู้ถ่ายทอดวิธีการขับร้อง การแสดง การพูดโต้ตอบ การร่ายรำ ศาสตร์ทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับ    การละเล่นเพลงอีแซว ขนบธรรมเนียมนิยมที่ศิษย์พึงปฏิบัติอย่างยิ่ง คือ การเคารพบูชาครู ไม่ลบหลู่  ดูหมิ่น และเทิดทูนท่านในฐานะปูชนียบุคคลที่สร้างเสริมปัญญา ความรู้แก่ตน สิ่งนี้เป็นเสมือนเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจให้เกิด       สิริมงคล แก่ศิลปินผู้แสดงเพลงอีแซว และเป็นสิ่งหนึ่งที่แสดงถึงความเจริญรุ่งเรืองในชีวิต
            ๒.๒  การลำดับการแสดงตามขนบนิยมและการปรับเปลี่ยน  ในที่นี้หมายถึงลำดับขั้นตอนในการแสดงเพลงอีแซว ที่มีมาแต่โบราณและสืบทอดมาจนปัจจุบัน ลำดับขั้นตอนในการแสดงเพลงอีแซว สามารถจำแนกออกได้ ดังนี้
                        ๒.๒.๑  ลำดับการขับร้องบทไหว้ครู ซึ่งเป็นบทที่กล่าวเทิดทูน บูชาครูอาจารย์ เทพ เทวดาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายที่สถิตย์อยู่ในสถานที่ต่างๆ ให้มาปกปักรักษา คุ้มครอง นำแนวทางการแสดงให้ประสบความสำเร็จ เป็นที่ประทับใจต่อผู้ชม บทไหว้ครูนี้เน้นความสงบ ศักดิ์สิทธิ์ เพื่อให้ผู้แสดงมีสมาธิ ระลึกถึงพระคุณครู  การขับร้องบทไหว้ครูจำเป็นต้องใช้ผู้แสดงที่มีความชำนาญ น้ำเสียงไพเราะกังวาน ชัดเจนในถ้อยคำ รวมทั้งการมีวัยวุฒิอาวุโส หรือเป็นหัวหน้าคณะ ทั้งนี้เพื่อเสริมสร้างความมั่นใจ แก่ผู้แสดงทุกคน โดยมีพานกำนลประกอบด้วย ดอกไม้ ธูป เทียน หมากพลู บุหรี่ และเงินกำนลครู ตามจำนวน สำหรับถือบูชาในขณะขับร้องบทไหว้ครู
                        ๒.๒.๒  ลำดับการขับร้องบทเกริ่น และบทออกตัว บทขับร้องทั้งสองบทนี้ มีความหมาย ในเชิงกล่าวถึงที่มาของการแสดง ว่าแสดงงานอะไร เพื่อสิ่งใด และการออกตัวในลักษณะความเมตตาผู้ชม   หากขับร้องผิดพลาด บกพร่อง น้ำเสียงไม่สดใสกังวาน ด้วยเป็นพ่อเพลง แม่เพลงที่ยังขาดประสบการณ์  การร้องบทเกริ่นนี้ ผู้ขับร้องต้องมีน้ำเสียงที่ชัดเจน มีลูกเล่นในการออดอ้อนขอความเห็นใจ รวมทั้งท่าทางที่เหมาะสม เพื่อให้ผู้ชมเกิดความคล้อยตาม และติดตามชมการแสดงในลำดับต่อไป
                        ๒.๒.๓  ลำดับการขับร้องบทประ  บทประ (อ่านว่า ปะหระ) หมายถึง บทร้องที่ใช้สำหรับการร้องโต้ตอบ ระหว่างฝ่ายพ่อเพลง และแม่เพลง ที่แสดงให้เห็นถึงความสนุกสนานของการแสดง ที่มีการต่อว่า ชิงรักหักสวาท การเปรียบเทียบ การแก้กลอน เพื่อแสดงปฏิภาณไหวพริบของผู้แสดง อันรวมถึงท่าทางที่แสดงออกมาอย่างขบขัน    บทประนี้ถือ ว่าเป็นบทที่ได้รับความสนใจจากผู้ชมมากที่สุด ด้วยเหตุผลดังได้กล่าวข้างต้น  ผู้แสดงบทนี้ต้องมีทักษะ ปฏิภาณ สามารถโต้ตอบบทร้องได้อย่างต่อเนื่อง ด้วยน้ำเสียงที่กระชับ ชัดถ้อยคำ รวดเร็ว และมีมุกตลกที่สอดแทรกอย่างน่าสนใจ ดังนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้เล่นเพลงอีแซวในบทประจะต้องมีประสบการณ์และหมั่นทบทวน ตลอดจนเรียนรู้การแสดงอย่างสม่ำเสมอ
                        ๒.๒.๔  ลำดับการขับร้องบทลา จาก และบทอวยพร ขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนสุดท้ายของการเล่นเพลง  อีแซว ถือเป็นขนบที่สำคัญยิ่งอย่างหนึ่ง โดยเมื่อแสดงมาเป็นเวลาพอสมควรแล้ว ก่อนจบการแสดงต้องมีการร้อง     บทลา จาก เพื่อแสดงว่ามีความอาลัยอาวรณ์ต่อเจ้าภาพ หรือผู้ชม จากนั้นจึงร้องบทอวยพรเป็นการขอบคุณบทร้อง  ลาจาก และบทอวยพรนี้ ผู้แสดงจะต้องใช้น้ำเสียงที่หวานซึ้งนุ่มนวล ตรึงใจผู้ชม ให้เกิดความคิดถึงและติดตามชมการแสดงในครั้งต่อไป
            อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันการแสดงเพลงอีแซว มีข้อจำกัดเรื่องเวลาในการแสดง จึงไม่สามารถแสดงได้ครบตามลำดับขั้นตอน ทั้ง ๔ ขั้นตอนได้ จึงจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนเพื่อให้เหมาะสมกับเวลาที่กำหนดในการแสดง ส่วนใหญ่นิยมตัดบทไหว้ครูออก โดยใช้ขนบในการไหว้ครูก่อนการแสดงแทน และบทอื่นๆใช้การตัดต่อให้กระชับ ได้ใจความ  เพื่อให้การแสดงมีอรรถรสดังเดิม ดังนั้นผู้แสดงเพลงอีแซว จึงต้องศึกษารายละเอียดการแสดงอย่างเข้าใจ ปรับบท   ในการแสดงให้เหมาะสม ควรพูดอธิบายเพิ่มเติมให้ผู้ชมเข้าใจถึงขนบการแสดงที่เปลี่ยนแปลง
            ๒.๓  การจดจำกลอนครูสู่กลอนต้นแบบ  คำว่า กลอนครู หมายถึง กลอนสำหรับการฝึกหัดเบื้องต้นที่เป็นบทร้องบทแรก สำหรับศิษย์ที่เริ่มฝึกหัดการร้องเพลงอีแซว โดยครูผู้ถ่ายทอด   มอบให้  แต่เดิมนั้น การถ่ายทอดบทร้อง ไม่มีการจดบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร ใช้การต่อแบบตัว  ต่อตัวด้วยการจดจำ ซึ่งวิธีการนี้นับว่าเป็นวิธีการที่แสดงถึงความรู้ความสามารถด้านความจำและสติปัญญาอย่างเป็นเลิศ ช่วยให้ไม่ลืมแม้เวลาล่วงเลย
            จากกลอนครู สามารถนำมาสู่การปรับเปลี่ยน หรือนำมาผสมผสานกับกลอนที่ประพันธ์ขึ้นใหม่ โดยได้ต้นแบบจากกลอนครู ช่วยให้บทการร้องมีความไพเราะ สละสลวย สำนวนโวหารกินใจ สามารถเรียงร้อยเป็นบทขับร้องได้อย่างเหมาะสม ปัจจุบันศิลปินที่เล่นเพลงอีแซว นิยมนำกลอนครู  มาแสดง และผสมผสานกับบทกลอนที่เปลี่ยนแปลงไปตามโอกาสของแต่ละงาน ถือว่าเป็นวิธีการที่ดีอย่างหนึ่งที่สามารถนำบทกลอนเก่ามาเผยแพร่ต่อคนในยุคปัจจุบัน
            ๒.๔  การมีคุณธรรมของศิลปิน  ศิลปินที่แสดงเพลงอีแซว แม้จะมีชื่อเสียงโด่งดัง เป็นที่นิยมยกย่องแก่บุคคลทั่วไป หากขาดคุณธรรมที่พึงประพฤติปฏิบัติ  อันเป็นแนวทางที่ดี ย่อมส่งผลเสียแก่ตนและวงการชาวเพลง    ดังนั้นคุณธรรมที่พ่อเพลงแม่เพลง พึงปฏิบัติ มีดังนี้
                        ๒.๔.๑  ความกตัญญูกตเวที การรู้คุณครูอาจารย์ บุรพการี ผู้มีพระคุณ และสำนึกในบทบาทหน้าที่อันพึงปฏิบัติ
                        ๒.๔.๒  ความซื่อสัตย์  ซื่อสัตย์ในวิชาชีพและเพื่อนร่วมวงการ ไม่เอารัดเอาเปรียบหรือฉ้อฉลหลอกลวงให้ผู้อื่นได้รับความเสียหาย โดยตนเป็นผู้รับประโยชน์เพียงฝ่ายเดียว
                        ๒.๔.๓  ความขยันหมั่นเพียร และอุตสาหะ มุ่งมั่นฝึกฝน รวมทั้งขยันในการประกอบอาชีพอย่างแน่วแน่ เพื่อการดำรงตนอย่างมีความสุข
                        ๒.๔.๔  ความรับผิดชอบต่อหน้าที่  ทำหน้าที่ของตนอย่างเต็มความสามารถ ไม่ละทิ้งงานจนก่อให้เกิดผลเสียต่อส่วนรวม
                        ๒.๔.๕  ความอดทน ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค  เป็นผู้มีมานะบากบั่นและเพียรพยายาม ไม่ละทิ้งเมื่อพบปัญหาและอุปสรรค
                        ๒.๔.๖ ความรักและศรัทธาในวิชาชีพ  การเป็นศิลปินเพลงพื้นบ้าน หรือเพลงอีแซว เป็นอาชีพที่ในอดีตได้รับความนิยมอย่างยิ่ง ไม่แพ้มหรสพชนิดอื่น ๆ และมาเสื่อมถอยเมื่อเกิดการปฏิวัฒน์วัฒนธรรมของชาวไทย    ในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ทำให้ศิลปินต้องยุติการเล่นเพลงพื้นบ้าน ภายหลังมีการรื้อฟื้นและนำมาแสดง ศิลปินที่แสดงจักต้องมีความรักและศรัทธาในวิชาชีพของตนอย่างลึกซึ้ง ไม่ทำลายศาสตร์แขนงนี้ด้วยความเห็นแก่ตนหรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ย่อมนำพาให้การแสดงเพลงพื้นบ้านรวมทั้งเพลงอีแซว สามารถดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคง
                        ๒.๔.๗ ความพอเพียง ตามแนวทางพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดชรัชกาลที่ ๙ สิ่งนี้ มีความสำคัญยิ่งในยุคปัจจุบัน ที่ความเจริญเข้ามามีบทบาทในชีวิต จนทำให้หลงลืมสิ่งดีงาม ศิลปินเพลงพื้นบ้าน ควรยึดแนวทางความพอเพียงไว้เป็นหลักในการดำรงชีวิตอย่างมีความสุข เมื่อมีความสุขย่อมมีสติและคิดสร้างสรรค์งานขึ้นมาใหม่อย่างมีคุณภาพ 
            นอกจากนี้ศิลปินเพลงอีแซวควรหลีกเลี่ยงการกระทำที่เป็นความชั่ว ละเว้นจากอบายมุขทั้งปวง เพราะทำให้ชีวิตพบกับความยุ่งยาก รวมทั้งเป็นอุปสรรคต่อการแสดง ทุกคุณธรรมที่กล่าวมาข้างต้นล้วนมีความสำคัญยิ่งที่ควรนำเป็นแนวทางปฏิบัติ เพื่อความสุขและการทำหน้าที่ศิลปินเพลงพื้นบ้านที่มีคุณภาพควบคู่กับคุณธรรม

๓.  องค์ประกอบการแสดง
            เมื่อผู้แสดงหรือศิลปิน สามารถ ฝึกหัดจนเกิดความชำนาญ และแสดงเผยแพร่สาธารณชนให้แพร่หลาย     จำเป็นต้องมีหลักการหรือแนวทางของการแสดง เพื่อให้เกิดแบบแผนตามที่กล่าวข้างต้น นอกจากนี้ ยังมีสิ่งสำคัญ   อีกประการหนึ่งที่ทำให้การแสดงเพลงอีแซว มีความน่าสนใจ สิ่งนั้น คือ องค์ประกอบการแสดง โดยจำแนกเป็นประเด็นต่าง ๆ ดังนี้
            ๓.๑  ผู้แสดง  ผู้แสดงเพลงอีแซว ต้องมีคุณสมบัติของการเป็นพ่อเพลง แม่เพลง ได้แก่ บุคลิกลักษณะที่น่าสนใจ น้ำเสียงดังฟังชัด มีความไพเราะ มีท่วงทำนองในการขับร้อง แสดงท่าทางได้ตามอารมณ์และบทบาท ร่ายรำอย่างเหมาะสม รวมทั้งการพูดโต้ตอบ การเจรจาอย่างมีปฏิภาณไหวพริบ ในการเล่นเพลงอีแซว นิยมมีพระเอก นางเอก ตัวรอง และตัวตลกตามบทบาท แต่ละคนที่ทำหน้าที่เหล่านี้จะต้องมีความเข้าใจและแสดงท่าทางรวมทั้งการกำหนดคิวในการแสดงให้ต่อเนื่องเพื่อแสดงทักษะอย่างเหมาะสม สิ่งสำคัญควรสังเกตผู้ชมในขณะที่แสดงด้วย ว่าสนใจ  ชอบใจ กับบทบาทการแสดงของเราหรือไม่ และควรปรับปรุงทันทีหากพบว่าการแสดงไม่สามารถสร้างความประทับใจ  ผู้แสดงควรใช้วิจารณญาณตัดสินใจ และเปลี่ยนลักษณะการแสดงของตนทันที
            ๓.๒  บทที่ใช้ประกอบการแสดง  ซึ่งรวมทั้ง บทร้อง และคำพูด ที่มีการมอบหมายวางแนวการแสดงไว้   ล่วงหน้า รวมถึงบทที่คิดขึ้นมาอย่างกะทันหันที่เราเรียกว่า “ด้น” การเลือกบทที่ใช้แสดง ควรคำนึงถึงลักษณะงาน  กลุ่มผู้ชม สถานที่ โอกาส เวลา ที่เหมาะสม บางครั้งการแสดงอาจใช้บทกลอนแบบดั้งเดิม ประเภทสองแง่สองง่าม หรือกลอนแดง สำหรับกลุ่มผู้ชมเป็นผู้สูงอายุ และมีประสบการณ์ในการชมการแสดง และต้องการเห็นรูปแบบดังกล่าว หรืออาจปรับเปลี่ยนบทร้องตามความเหมาะสม  นอกจากนี้นิยมแต่งบทร้องขึ้นใหม่เพื่อให้เหมาะสมและใช้แสดงเฉพาะกับงานนั้นๆ นับเป็นการสร้างบทได้สอดคล้องกับสถานการณ์และยุคสมัย ที่สำคัญควรมีการสอดแทรกความตลกขบขัน คำพูด สำนวน ที่นิยมพูดกัน ให้เกิดความทันสมัย รวมทั้งเป็นการสร้างความน่าสนใจให้กับการแสดงมากยิ่งขึ้น
            ๓.๓  ระยะเวลาในการแสดง  เดิมการเล่นเพลงอีแซว นิยมใช้เวลาในการแสดงมากกว่า ๓ ชั่วโมงขึ้นไป  หรือตลอดทั้งคืน พ่อเพลงแม่เพลงสามารถนำกลเม็ด ในการร้องและเล่นออกมาได้อย่างเต็มที่ และยึดขนบในการแสดงอย่างเคร่งครัด ปัจจุบัน การแสดงเพลงอีแซว มีระยะเวลาการแสดงที่จำกัด เช่น ๒๐-๓๐ นาที หรือ ๑ ชั่วโมง   จำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้แสดงควร ปรับเปลี่ยนบทและวิธีการแสดงให้เหมาะสมกับเวลา โดยศึกษาข้อมูลจากผู้ชม ได้แก่  อายุ จำนวน สถานที่ เป็นสำคัญและวางรูปแบบการเล่นที่เป็นระบบ จังหวะการโต้ตอบคำร้อง คำพูด ที่ชัดเจน          ใช้หลักการเพียงเท่านี้สามารถทำให้ ผู้ชมได้รับความสนุกสนาน เพลิดเพลิน ได้เช่นกัน
            ๓.๔  การแต่งกาย  ควรแต่งกายให้เหมาะสมกับการแสดงเพลงพื้นบ้าน หรือให้เข้ากับแนว การแสดงที่แสดง การแต่งกายที่ดี  สามารถดึงดูดความสนใจผู้ชมให้มาชมการแสดง การแต่งกายที่เรียบร้อย ในที่นี้หมายถึง การนุ่งผ้าโจงกระเบนที่ได้สัดส่วน การสวมเสื้อของฝ่ายชายฝ่ายหญิงที่มีความสวยงาม การสวมใส่เครื่องประดับ ตลอดจนการแต่งหน้า ทำผม ที่ช่วยส่งเสริมให้ผู้แสดงมีบุคลิกภาพที่ดี นับเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของการแสดงเพลงอีแซว
            ๓.๕  ดนตรีและอุปกรณ์ประกอบ  การแสดงเพลงอีแซวแต่เดิมใช้เพียงการปรบมือประกอบ การร้องเพลง  ปัจจุบันมีการนำเครื่องดนตรี คือ ตะโพน ฉิ่ง กรับ มาบรรเลงประกอบเพื่อความครึ้กครื้น และให้ความสนุกสนานเร้าใจผู้ชมยิ่งขึ้น นักดนตรีที่ตีตะโพนประกอบการเล่นเพลงอีแซว ต้องเป็นผู้มีทักษะในการตีพร้อมลูกเล่นในการทำทำนอง หนัก เบา ตามอารมณ์และคำร้องของพ่อเพลง แม่เพลง และต้องฟังเพลงอย่างมีทักษะ ก่อให้เกิดความสอดคล้องกับการแสดงอย่างเป็นเอกภาพ  นอกจากนี้การนำอุปกรณ์ต่างๆ มาร่วมในการแสดง เช่น ผ้า ไม้ตะขาบ ดอกไม้ หรือสิ่งของสมมติที่เกี่ยวข้องกับบทร้อง หรือตับ/ตอนที่ร้อง มาประกอบการแสดง ช่วยเสริมสร้างบรรยากาศความสนุกสนานอย่างชัดเจนยิ่งขึ้น และควรใช้อย่างเหมาะสม
            ๓.๖  เทคนิคการใช้อุปกรณ์เครื่องเสียง  แต่โบราณการเล่นพลงอีแซวหรือเพลงพื้นบ้านทั่วไป เป็นการขับร้องที่มาจากผู้ร้องเอง โดยไม่มีเครื่องเสียงหรือไมค์โครโฟน ใช้แต่อย่างใด จึงต้องเปล่งเสียงออกมาให้ดัง เพื่อผู้เล่น และผู้ชมคนอื่นๆ จะได้ยินเสียง  ปัจจุบันนำระบบเครื่องเสียงมาใช้กับการแสดงเพลงอีแซว ดังนั้นผู้ขับร้องควรมีทักษะในการใช้ไมค์โครโฟนที่ดี คือ ไม่ชิดหรือห่างจนเกินไป และนิยมเป็นไมค์โครโฟนที่มีขาตั้ง เพื่อผู้ขับร้องจะได้แสดงท่าทางตามอารมณ์ บทที่ร้องได้อย่างเหมาะสม ข้อสำคัญในการใช้ไมค์โครโฟน ควรร้องให้ชัดคำ โดยเฉพาะคำลงกลอนของบทร้องนั้นต้องชัดเจน หนักแน่น ไม่ควรละทิ้งปากที่ขับร้องไปจากไมค์โครโฟน เพราะคำลงเป็นบทร้องที่ปิดประเด็น หรือบทสำคัญในการโต้ตอบ แก้กลอน หรือเป็นบทที่กินใจผู้ชม ที่ผู้ชมต้องการฟังเครื่องเสียงนับเป็นสิ่งสำคัญในการช่วยให้ผู้เล่นเพลงไม่ใช้เสียงจนเกินกำลัง รวมทั้งสามารถปรับ ทุ้ม แหลม หนัก เบา สะท้อน ให้เกิดความไพเราะยิ่งขึ้น
            ที่กล่าวทั้งหมดนี้ เป็นแนวทางการปฏิบัติที่ดี ของผู้แสดงเพลงอีแซว พึงนำไปปฏิบัติให้เกิดประโยชน์แก่ตน   จนกลายเป็นทักษะและสร้างคุณค่าของเพลงพื้นบ้านให้เป็นที่ยอมรับและนิยมในปัจจุบัน โดยองค์ความรู้ที่นำมา    เผยแพร่ มาจากประสบการณ์ตรงของศิลปินภูมิปัญญาเพลงอีแซวจังหวัดสุพรรณบุรี อันเป็นแนวทางที่มีประโยชน์   ต่อวงการวิชาชีพเพลงพื้นบ้านอย่างแท้จริง











ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น