วันพฤหัสบดีที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

รูปแบบการเล่นเพลงอีแซวของศิลปินภูมิปัญญา จังหวัดสุพรรณบุรี

การจัดการความรู้
เรื่อง
รูปแบบการเล่นเพลงอีแซวของศิลปินภูมิปัญญา จังหวัดสุพรรณบุรี

โดยวิทยาลัยนาฏศิลปสุพรรณบุรี



          เพลงอีแซว คือเพลงพื้นบ้านอันเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดสุพรรณบุรี ที่ยังคงมีการขับร้องและเล่นสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน  การเล่นเพลงอีแซวแต่โบราณมีขนบวิธีในการแสดง ที่ควรค่าต่อการศึกษาอย่างยิ่ง โดยศิลปินภูมิปัญญา ได้เล่นสืบทอดกันมา ซึ่งแบ่งลำดับขั้นตอนการเล่นและขับร้องได้ ดังนี้          
          1) การขับร้องบทไหว้ครู เป็นขั้นตอนแรกของการเล่นเพลงอีแซว บทร้องเป็นเพลงเก่าแก่ที่สืบทอดกันมา เป็นบทร้องที่รำลึกถึงคุณครูต่าง ๆ ที่เคารพ ซึ่งได้แก่ พระรัตนตรัย ครูอาจารย์ บิดามารดา ตลอดจนเทพเจ้า เพื่อขอให้ท่านทั้งหลายช่วยปกป้องภยันตรายและดลบันดาลให้การเล่นเพลงดำเนินไปด้วยดี  ตลอดจนมีชัยชนะต่อผู้ที่มาประชันแข่งขัน  เพลงไหว้ครูนี้ชายจะร้องก่อนโดย พ่อเพลงและลูกคู่ออกมานั่งและถือพานกำนล เมื่อร้องจบ หญิงจะร้องตาม โดยมีเนื้อความคล้ายคลึงกัน เน้นผู้ขับร้องที่มีกระแสเสียงดี
           2)  การขับร้องบทเกริ่น เป็นขั้นตอนที่ 2 ของการเล่นเพลงอีแซวประกอบด้วยการขับร้องเพลงออกตัว เพลงแต่งตัวและเพลงปลอบโดยฝ่ายชายออกตัวและขับร้องก่อน จากนั้นฝ่ายหญิงจึงออกมาขับร้องตามลำดับเช่นกัน ในการร้องบทเกริ่นนี้ ผู้ที่ขับร้องต้องเป็นผู้ที่มีกระแสเสียงดี สามารถดึงดูดความสนใจผู้ชมได้
           3)  การขับร้องบทประ (ปะ-หระ) หมายถึง การขับร้องเพลงที่ปะทะคารมของพ่อเพลงกับแม่เพลง ซึ่งถือเป็นขั้นตอนที่ 3 ในการขับร้องปะทะคารมหรือโต้ตอบกันนี้จะประกอบด้วยเพลงตับต่าง ๆ จำนวนมากมายแล้วแต่ผู้ร้องจะเลือกมาร้องเล่น การโต้ตอบในการร้องเพลงตับนี้มักจะใช้ถ้อยคำรุนแรงเพื่อแสดงถึงปฏิภาณไหวพริบและความสามารถของผู้ขับร้อง ลำดับขั้นตอนการร้องเพลงประ จึงเป็นหัวใจของการเล่นเพลง พ่อเพลงแม่เพลงนิยมร้องกันมากที่สุดด้วย เพราะเป็นการช่วยที่จะแสดงฝีปากได้เต็มที่ นอกจากนี้ยังสามารถแทรกเรื่องราวต่าง ๆ เป็นตับเบ็ดเตล็ดได้มากที่สุดด้วย        
           4)  การขับร้องบทลาหรือบทจาก เป็นช่วงสุดท้ายของการแสดง เมื่อพ่อเพลงและแม่เพลงเล่นเพลงใกล้จบแล้วจะจากกันไปจะร้องเพลงลา ซึ่งมีเนื้อหาสั่งเสียคู่เล่นเพลงของตนเป็นการอำลาอย่างอาลัยอาวรณ์ และอำลาผู้ชมทั้งหลายเป็นการขอบคุณและแสดงความอาลัยไม่อยากจากไป ซึ่งมักจะกล่าวถึงสถานทีได้แก่ หมู่บ้าน ตำบลที่ไปเล่น โรงหรือเวทีแสดง กล่าวถึงสิ่งของต่าง ๆ เช่น โต๊ะ เตียง เสื่อ ขันน้ำ สำรับอาหารคาวหวาน ฯลฯ และสิ่งที่จะขาดเสียมิได้คือ การลาเจ้าของงานโดยจะกล่าวถึงความสำนึกถึงในบุญคุณที่ไปหาว่าจ้างคณะเพลงมาเล่น ท้ายสุดจะร้องเพลงอวยพรเจ้าภาพและผู้ดูต่อไป
             จากรูปแบบการเล่นเพลงอีแซวสะท้อนให้เห็นถึงลำดับขั้นตอนการแสดงที่เป็นระบบ โดยมีคำร้องเฉพาะตามโอกาส ผู้แสดงสามารถเชื่อมโยงลำดับขั้นต่างๆตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงลำดับสุดท้าย โดยมีเนื้อหาที่ใช้ในการแสดงอย่างต่อเนื่อง ทั้งยังแสดงถึงปฏิภาณไหวพริบของพ่อเพลงแม่เพลงได้เป็นอย่างดี  ในปัจจุบันลำดับขั้นตอนการเล่นเพลงพื้นบ้านที่มีมาแต่โบราณเริ่มลดน้อยลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งบทไหว้ครูมักจะถูกตัดออกไปจากกระบวนการเล่นเพลง เพราะมีปัจจัยในเรื่องของเวลาที่ใช้การแสดงเป็นตัวกำหนด แต่ศิลปินภูมิปัญญาท่านก็มิได้ตัดออกไปแต่อย่างใดหากแต่สอดแทรกในพิธีกรรมของการไหว้ครูก่อนการแสดง รวมถึงเนื้อหาของเพลงที่ขับร้องเกิดการปรับเปลี่ยนบ้างตามกาลเวลา และการเข้าถึงกลุ่มผู้ฟัง ผู้ชมในยุคปัจจุบัน

             ที่กล่าวมาข้างต้น เป็นองค์ความรู้ที่เกิดจากการจัดการความรู้ (Knowledge Managment) จากศิลปินแห่งชาติ ศิลปินภูมิปัญญาเพลงพื้นบ้านของจังหวัดสุพรรณบุรี ที่ทุกท่านได้รับการถ่ายทอดจากครูเพลงในอดีตและมีประสบการณ์ในการแสดงเพลงพื้นบ้านมาอย่างยาวนาน ทำให้เกิดองค์ความรู้ที่ชัดเจนและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อวงการเพลงพื้นบ้านของไทยสืบไป