วันพุธที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

เพลงพวงมาลัย อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี

การจัดการความรู้
เรื่อง
พลงพวงมาลัย อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี


         
ความหมายเพลงพวงมาลัย
          เพลงพวงมาลัย  หมายถึง เพลงพื้นบ้านภาคกลาง ที่ร้องในเทศกาลและเล่นควบคู่กับการละเล่นพื้นบ้าน       คือ ลูกช่วง หรือช่วงชัย จัดเป็นเพลงร้องที่ร้องทั่วไปและโต้ตอบกันระหว่างชายหญิง มีลักษณะคำร้องที่เป็นเอกลักษณ์ คือขึ้นต้นว่า เอ่อระเหยลอยมา  หรือ เอ่อระเหยลอยไป และลงท้ายด้วยคำว่า เอย   

ประวัติเพลงพวงมาลัย
          เพลงพวงมาลัยเป็นการเล่นพื้นเมืองที่มีมาแต่โบราณราวร้อยกว่าปี นิยมเล่นกันในบริเวณภาคกลาง โดยใช้เป็นเพลงปรับในการเล่นกีฬาพื้นบ้านที่เรียกว่า ช่วงชัยหรือ ลูกช่วงและบางถิ่นใช้เป็นเพลงร้องโต้ตอบเกี้ยวพาราสีกันในกลุ่มหนุ่มสาวเพลงพวงมาลัยเป็นเพลงที่นิยมเล่นกันในช่วงเทศกาลตรุษสงกรานต์ ซึ่งถือว่าเป็นวันขึ้นปีใหม่ของไทยแต่เพลงพวงมาลัยได้มีการเขียนบันทึกรูปแบบการละเล่นไว้อย่างชัดเจนในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ด้านถิ่นที่ปรากฏของเพลงพวงมาลัย พบว่ามีแพร่กระจายอยู่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก ในเขตภาคกลางด้านตะวันตกและตอนล่างพบในจังหวัดอ่างทอง สุพรรณบุรี กาญจนบุรี นครปฐม ราชบุรี และเพชรบุรี จากถิ่นที่ปรากฏของเพลงพวงมาลัยนี้ เมื่อสำรวจดูพบว่าเป็นชุมชนไทยดั้งเดิมที่มีมาก่อนสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี     
          ส่วนประวัติเพลงพวงมาลัยอำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นเพลงที่ชาวบ้านในท้องถิ่นขับร้องและเล่นกันมานานราวเกือบสองร้อยปี โดยเล่นควบคู่กับการละเล่นของไทยที่เรียกว่าลูกช่วง หรือ ช่วงชัย การละเล่น ลูกช่วงพวงมาลัยของชาวบ้านอำเภออู่ทอง ในอดีตนับว่าเป็นวิถีที่ควบคู่กัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเทศกาล ตรุษ สงกรานต์ สถานที่เล่น คือลานวัด ลานบ้าน

ลักษณะของการละเล่นเพลงพวงมาลัย
          เริ่มการเล่นเพลงพวงมาลัย ด้วยการไหว้ครู การเล่นเพลงพวงมาลัยนั้น มีทั้งการหันหน้าเข้าหากันของพ่อเพลง แม่เพลงทั้งสองฝ่าย ส่วนใหญ่นิยมตั้งเป็นวง แบ่งเป็นฝ่ายชายและฝ่ายหญิงอยู่กันฝ่ายละครึ่งวงกลม แต่ละฝ่ายจะมีพ่อเพลงแม่เพลง (พ่อพวง แม่พวง) ข้างละ 1 คน และมีลูกคู่เท่าไรก็ได้แล้วแต่วงเล็กวงใหญ่ แต่ต้องไม่ต่ำกว่า3 คนเป็นอย่างน้อย  การเล่นเพลงพวงมาลัย  แต่เดิมนั้นผู้เล่นทั้งสองฝ่าย  จะประกอบด้วยผู้เล่นหลายรุ่นด้วยกัน คือมีเด็ก หนุ่มสาว  และผู้สูงอายุ  โดยมีผู้สูงอายุที่เล่นเพลงพวงมาลัยเป็นและเป็นคนในพื้นถิ่นมาเป็นผู้ตั้งวงเล่นเพลงไว้และคอยดูแลให้หนุ่มสาวเล่นเพลงกันไปด้วยความเรียบร้อย ส่วนเด็กจะช่วยกันปรบมือให้จังหวะและร้องรับร้องกระทุ้งอันเป็นการฝึกการเล่นเพลงพวงมาลัยไปในตัว
  
ลักษณะบทร้องที่ใช้ในการเล่นเพลงพวงมาลัย
การเล่นเพลงพวงมาลัยโดยทั่วไป จะมีโครงสร้างของบทร้องที่เล่นคล้ายกับเพลงร้องโต้ตอบทั่วไปตามลำดับของการเล่น ได้แก่ บทไหว้ครู บทออกตัวหรือบทเกริ่น บทประ หรือบททักทาย บทผูกรัก บทสู่ขอหรือลักหาพาหนี บทชิงชู้หรือตีหมากผัว (ปัจจุบันไม่มีแล้ว) และบทจาก ซึ่งเนื้อหาของเรื่องที่เล่นในแต่ละขั้นตอนมีลักษณะที่สะท้อนความเชื่อ ขนบ จารีต ของท้องถิ่น

ตัวอย่างบทร้อง            เอ่อระเหยลอยมา           ลอยมาก็ลอยไป
          พี่ตั้งใจมาหา                            ให้น้องช่วยรับหน้าพี่ไว้
          ให้ลงมาเล่นกันไวไว                    กับพวกพี่ชายหน่อยเอย  (ลูกคู่รับ)        

คำศัพท์เฉพาะเพลงพวงมาลัย 

ลำดับที่
ศัพท์เพลงพื้นบ้าน
ความหมาย
1.
พ่อพวง
มีความหมายเดียวกับคำว่า พ่อเพลง หมายถึง ผู้ทำหน้าที่ในการขับร้องเพลงพวงมาลัย ฝ่ายชาย
2.
แม่พวง
มีความหมายเดียวกับคำว่า แม่เพลง หมายถึง ผู้ทำหน้าที่ในการขับร้องเพลงพวงมาลัย ฝ่ายหญิง
3.
พวง
ลักษณะนามของบทขับร้องเพลงพวงมาลัย เช่น
1 บท เรียกว่า 1 พวง   2 บท เรียกว่า 2 พวง เป็นต้น
4.
กลอนตับ
กลอนชุดต่าง ๆผูกเป็นเรื่องราว ร้องยาวต่อเนื่องกัน
5.
กลอนหัวเดียว
กลอนที่คำลงท้ายวรรคหลังใช้สระเสียงเดียวกัน เช่น กลอนลี คือคำสุดท้ายวรรคหลังใช้สระ อี ทุกคำ กลอนไล คือคำสุดท้ายวรรคหลังใช้ สระไอ เป็นต้น
6.
ครูเพลง
ครูผู้ถ่ายทอดกลอนเพลงพื้นบ้าน ที่เป็นผู้ประสิทธิ์ประสาท  วิชาโดยเริ่มตั้งแต่จับข้อมือรับเป็นศิษย์ และอีกนัยหนึ่งคือครูที่เป็นเทพ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ที่เคารพนับถือทางจิตใจตามธรรมเนียมที่ยึดถือสืบต่อกันมาของการแสดงเพลงพื้นบ้าน
7.
ด้น
การคิดคำร้องขึ้นมาทันทีทันใดของเพลงพื้นบ้าน โดยที่ไม่มีการเตรียมบทร้องไว้ล่วงหน้า โดยให้มีความสอดคล้องกับสถานการณ์การแสดงที่เกิดขึ้น
8.
พวงมาลัยสั้น
บทการขับร้องเพลงพวงมาลัย ที่เป็นบทสั้น ไม่เกิน 3 คำลง
9.
พวงมาลัยยาว
บทการขับร้องเพลงพวงมาลัย ที่เป็นบทขับร้องมีความยาวเกินกว่า 3 ทัด และมักร้องติดต่อกันโดยมีเนื้อหาของบทต่อเนื่องกัน บางเรื่องมีความยาวถึง 60 บาท หรือ บรรทัดก็มี
10.
บทประ ( ปะ – หระ )
การโต้ตอบด้วยบทร้องเพลงพื้นบ้าน ระหว่างพ่อเพลงและแม่เพลงที่มีความสนุกสนาน ในบทต่างๆ เช่น ชิงรักหักสวาท     การต่อว่า การเปรียบเทียบเปรียบเปรย
11.
ลูกคู่
ผู้ทำหน้าที่ร้องรับทำนองของพ่อเพลง แม่เพลง ซึ่งมีมากกว่า จำนวน 1 คน ขึ้นไป



XXXXXXXXXXXXXXXXXXXXXXXXXXXXXXXXXXXX



การเล่นเพลงพวงมาลัย
บ้านหนองบัว ต.จรเข้สามพัน อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี

ครูบัว  สังข์วรรณะ
ไหว้ครูเป็นศิริมงคล เพื่อเตรียมเล่มเพลงพวงมาลัย

สาธิตเล่นเพลงพวงมาลัย
โดยพ่อพวง แม่พวง จากวิทยาลัยนาฏศิลปสุพรรณบุรี ตามแนวทางครูบัว สังข์วรรณะ



คณะทำงานการจัดการความรู้ (KM)
กลุ่มภูมิปัญญาท้องถิ่น
วิทยาลัยนาฏศิลปสุพรรณบุรี
สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ กระทรวงวัฒนธรรม