วันพุธที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

เพลงพวงมาลัย อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี

การจัดการความรู้
เรื่อง
พลงพวงมาลัย อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี


         
ความหมายเพลงพวงมาลัย
          เพลงพวงมาลัย  หมายถึง เพลงพื้นบ้านภาคกลาง ที่ร้องในเทศกาลและเล่นควบคู่กับการละเล่นพื้นบ้าน       คือ ลูกช่วง หรือช่วงชัย จัดเป็นเพลงร้องที่ร้องทั่วไปและโต้ตอบกันระหว่างชายหญิง มีลักษณะคำร้องที่เป็นเอกลักษณ์ คือขึ้นต้นว่า เอ่อระเหยลอยมา  หรือ เอ่อระเหยลอยไป และลงท้ายด้วยคำว่า เอย   

ประวัติเพลงพวงมาลัย
          เพลงพวงมาลัยเป็นการเล่นพื้นเมืองที่มีมาแต่โบราณราวร้อยกว่าปี นิยมเล่นกันในบริเวณภาคกลาง โดยใช้เป็นเพลงปรับในการเล่นกีฬาพื้นบ้านที่เรียกว่า ช่วงชัยหรือ ลูกช่วงและบางถิ่นใช้เป็นเพลงร้องโต้ตอบเกี้ยวพาราสีกันในกลุ่มหนุ่มสาวเพลงพวงมาลัยเป็นเพลงที่นิยมเล่นกันในช่วงเทศกาลตรุษสงกรานต์ ซึ่งถือว่าเป็นวันขึ้นปีใหม่ของไทยแต่เพลงพวงมาลัยได้มีการเขียนบันทึกรูปแบบการละเล่นไว้อย่างชัดเจนในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ด้านถิ่นที่ปรากฏของเพลงพวงมาลัย พบว่ามีแพร่กระจายอยู่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก ในเขตภาคกลางด้านตะวันตกและตอนล่างพบในจังหวัดอ่างทอง สุพรรณบุรี กาญจนบุรี นครปฐม ราชบุรี และเพชรบุรี จากถิ่นที่ปรากฏของเพลงพวงมาลัยนี้ เมื่อสำรวจดูพบว่าเป็นชุมชนไทยดั้งเดิมที่มีมาก่อนสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี     
          ส่วนประวัติเพลงพวงมาลัยอำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นเพลงที่ชาวบ้านในท้องถิ่นขับร้องและเล่นกันมานานราวเกือบสองร้อยปี โดยเล่นควบคู่กับการละเล่นของไทยที่เรียกว่าลูกช่วง หรือ ช่วงชัย การละเล่น ลูกช่วงพวงมาลัยของชาวบ้านอำเภออู่ทอง ในอดีตนับว่าเป็นวิถีที่ควบคู่กัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเทศกาล ตรุษ สงกรานต์ สถานที่เล่น คือลานวัด ลานบ้าน

ลักษณะของการละเล่นเพลงพวงมาลัย
          เริ่มการเล่นเพลงพวงมาลัย ด้วยการไหว้ครู การเล่นเพลงพวงมาลัยนั้น มีทั้งการหันหน้าเข้าหากันของพ่อเพลง แม่เพลงทั้งสองฝ่าย ส่วนใหญ่นิยมตั้งเป็นวง แบ่งเป็นฝ่ายชายและฝ่ายหญิงอยู่กันฝ่ายละครึ่งวงกลม แต่ละฝ่ายจะมีพ่อเพลงแม่เพลง (พ่อพวง แม่พวง) ข้างละ 1 คน และมีลูกคู่เท่าไรก็ได้แล้วแต่วงเล็กวงใหญ่ แต่ต้องไม่ต่ำกว่า3 คนเป็นอย่างน้อย  การเล่นเพลงพวงมาลัย  แต่เดิมนั้นผู้เล่นทั้งสองฝ่าย  จะประกอบด้วยผู้เล่นหลายรุ่นด้วยกัน คือมีเด็ก หนุ่มสาว  และผู้สูงอายุ  โดยมีผู้สูงอายุที่เล่นเพลงพวงมาลัยเป็นและเป็นคนในพื้นถิ่นมาเป็นผู้ตั้งวงเล่นเพลงไว้และคอยดูแลให้หนุ่มสาวเล่นเพลงกันไปด้วยความเรียบร้อย ส่วนเด็กจะช่วยกันปรบมือให้จังหวะและร้องรับร้องกระทุ้งอันเป็นการฝึกการเล่นเพลงพวงมาลัยไปในตัว
  
ลักษณะบทร้องที่ใช้ในการเล่นเพลงพวงมาลัย
การเล่นเพลงพวงมาลัยโดยทั่วไป จะมีโครงสร้างของบทร้องที่เล่นคล้ายกับเพลงร้องโต้ตอบทั่วไปตามลำดับของการเล่น ได้แก่ บทไหว้ครู บทออกตัวหรือบทเกริ่น บทประ หรือบททักทาย บทผูกรัก บทสู่ขอหรือลักหาพาหนี บทชิงชู้หรือตีหมากผัว (ปัจจุบันไม่มีแล้ว) และบทจาก ซึ่งเนื้อหาของเรื่องที่เล่นในแต่ละขั้นตอนมีลักษณะที่สะท้อนความเชื่อ ขนบ จารีต ของท้องถิ่น

ตัวอย่างบทร้อง            เอ่อระเหยลอยมา           ลอยมาก็ลอยไป
          พี่ตั้งใจมาหา                            ให้น้องช่วยรับหน้าพี่ไว้
          ให้ลงมาเล่นกันไวไว                    กับพวกพี่ชายหน่อยเอย  (ลูกคู่รับ)        

คำศัพท์เฉพาะเพลงพวงมาลัย 

ลำดับที่
ศัพท์เพลงพื้นบ้าน
ความหมาย
1.
พ่อพวง
มีความหมายเดียวกับคำว่า พ่อเพลง หมายถึง ผู้ทำหน้าที่ในการขับร้องเพลงพวงมาลัย ฝ่ายชาย
2.
แม่พวง
มีความหมายเดียวกับคำว่า แม่เพลง หมายถึง ผู้ทำหน้าที่ในการขับร้องเพลงพวงมาลัย ฝ่ายหญิง
3.
พวง
ลักษณะนามของบทขับร้องเพลงพวงมาลัย เช่น
1 บท เรียกว่า 1 พวง   2 บท เรียกว่า 2 พวง เป็นต้น
4.
กลอนตับ
กลอนชุดต่าง ๆผูกเป็นเรื่องราว ร้องยาวต่อเนื่องกัน
5.
กลอนหัวเดียว
กลอนที่คำลงท้ายวรรคหลังใช้สระเสียงเดียวกัน เช่น กลอนลี คือคำสุดท้ายวรรคหลังใช้สระ อี ทุกคำ กลอนไล คือคำสุดท้ายวรรคหลังใช้ สระไอ เป็นต้น
6.
ครูเพลง
ครูผู้ถ่ายทอดกลอนเพลงพื้นบ้าน ที่เป็นผู้ประสิทธิ์ประสาท  วิชาโดยเริ่มตั้งแต่จับข้อมือรับเป็นศิษย์ และอีกนัยหนึ่งคือครูที่เป็นเทพ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ที่เคารพนับถือทางจิตใจตามธรรมเนียมที่ยึดถือสืบต่อกันมาของการแสดงเพลงพื้นบ้าน
7.
ด้น
การคิดคำร้องขึ้นมาทันทีทันใดของเพลงพื้นบ้าน โดยที่ไม่มีการเตรียมบทร้องไว้ล่วงหน้า โดยให้มีความสอดคล้องกับสถานการณ์การแสดงที่เกิดขึ้น
8.
พวงมาลัยสั้น
บทการขับร้องเพลงพวงมาลัย ที่เป็นบทสั้น ไม่เกิน 3 คำลง
9.
พวงมาลัยยาว
บทการขับร้องเพลงพวงมาลัย ที่เป็นบทขับร้องมีความยาวเกินกว่า 3 ทัด และมักร้องติดต่อกันโดยมีเนื้อหาของบทต่อเนื่องกัน บางเรื่องมีความยาวถึง 60 บาท หรือ บรรทัดก็มี
10.
บทประ ( ปะ – หระ )
การโต้ตอบด้วยบทร้องเพลงพื้นบ้าน ระหว่างพ่อเพลงและแม่เพลงที่มีความสนุกสนาน ในบทต่างๆ เช่น ชิงรักหักสวาท     การต่อว่า การเปรียบเทียบเปรียบเปรย
11.
ลูกคู่
ผู้ทำหน้าที่ร้องรับทำนองของพ่อเพลง แม่เพลง ซึ่งมีมากกว่า จำนวน 1 คน ขึ้นไป



XXXXXXXXXXXXXXXXXXXXXXXXXXXXXXXXXXXX



การเล่นเพลงพวงมาลัย
บ้านหนองบัว ต.จรเข้สามพัน อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี

ครูบัว  สังข์วรรณะ
ไหว้ครูเป็นศิริมงคล เพื่อเตรียมเล่มเพลงพวงมาลัย

สาธิตเล่นเพลงพวงมาลัย
โดยพ่อพวง แม่พวง จากวิทยาลัยนาฏศิลปสุพรรณบุรี ตามแนวทางครูบัว สังข์วรรณะ



คณะทำงานการจัดการความรู้ (KM)
กลุ่มภูมิปัญญาท้องถิ่น
วิทยาลัยนาฏศิลปสุพรรณบุรี
สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ กระทรวงวัฒนธรรม











วันพฤหัสบดีที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

รูปแบบการเล่นเพลงอีแซวของศิลปินภูมิปัญญา จังหวัดสุพรรณบุรี

การจัดการความรู้
เรื่อง
รูปแบบการเล่นเพลงอีแซวของศิลปินภูมิปัญญา จังหวัดสุพรรณบุรี

โดยวิทยาลัยนาฏศิลปสุพรรณบุรี



          เพลงอีแซว คือเพลงพื้นบ้านอันเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดสุพรรณบุรี ที่ยังคงมีการขับร้องและเล่นสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน  การเล่นเพลงอีแซวแต่โบราณมีขนบวิธีในการแสดง ที่ควรค่าต่อการศึกษาอย่างยิ่ง โดยศิลปินภูมิปัญญา ได้เล่นสืบทอดกันมา ซึ่งแบ่งลำดับขั้นตอนการเล่นและขับร้องได้ ดังนี้          
          1) การขับร้องบทไหว้ครู เป็นขั้นตอนแรกของการเล่นเพลงอีแซว บทร้องเป็นเพลงเก่าแก่ที่สืบทอดกันมา เป็นบทร้องที่รำลึกถึงคุณครูต่าง ๆ ที่เคารพ ซึ่งได้แก่ พระรัตนตรัย ครูอาจารย์ บิดามารดา ตลอดจนเทพเจ้า เพื่อขอให้ท่านทั้งหลายช่วยปกป้องภยันตรายและดลบันดาลให้การเล่นเพลงดำเนินไปด้วยดี  ตลอดจนมีชัยชนะต่อผู้ที่มาประชันแข่งขัน  เพลงไหว้ครูนี้ชายจะร้องก่อนโดย พ่อเพลงและลูกคู่ออกมานั่งและถือพานกำนล เมื่อร้องจบ หญิงจะร้องตาม โดยมีเนื้อความคล้ายคลึงกัน เน้นผู้ขับร้องที่มีกระแสเสียงดี
           2)  การขับร้องบทเกริ่น เป็นขั้นตอนที่ 2 ของการเล่นเพลงอีแซวประกอบด้วยการขับร้องเพลงออกตัว เพลงแต่งตัวและเพลงปลอบโดยฝ่ายชายออกตัวและขับร้องก่อน จากนั้นฝ่ายหญิงจึงออกมาขับร้องตามลำดับเช่นกัน ในการร้องบทเกริ่นนี้ ผู้ที่ขับร้องต้องเป็นผู้ที่มีกระแสเสียงดี สามารถดึงดูดความสนใจผู้ชมได้
           3)  การขับร้องบทประ (ปะ-หระ) หมายถึง การขับร้องเพลงที่ปะทะคารมของพ่อเพลงกับแม่เพลง ซึ่งถือเป็นขั้นตอนที่ 3 ในการขับร้องปะทะคารมหรือโต้ตอบกันนี้จะประกอบด้วยเพลงตับต่าง ๆ จำนวนมากมายแล้วแต่ผู้ร้องจะเลือกมาร้องเล่น การโต้ตอบในการร้องเพลงตับนี้มักจะใช้ถ้อยคำรุนแรงเพื่อแสดงถึงปฏิภาณไหวพริบและความสามารถของผู้ขับร้อง ลำดับขั้นตอนการร้องเพลงประ จึงเป็นหัวใจของการเล่นเพลง พ่อเพลงแม่เพลงนิยมร้องกันมากที่สุดด้วย เพราะเป็นการช่วยที่จะแสดงฝีปากได้เต็มที่ นอกจากนี้ยังสามารถแทรกเรื่องราวต่าง ๆ เป็นตับเบ็ดเตล็ดได้มากที่สุดด้วย        
           4)  การขับร้องบทลาหรือบทจาก เป็นช่วงสุดท้ายของการแสดง เมื่อพ่อเพลงและแม่เพลงเล่นเพลงใกล้จบแล้วจะจากกันไปจะร้องเพลงลา ซึ่งมีเนื้อหาสั่งเสียคู่เล่นเพลงของตนเป็นการอำลาอย่างอาลัยอาวรณ์ และอำลาผู้ชมทั้งหลายเป็นการขอบคุณและแสดงความอาลัยไม่อยากจากไป ซึ่งมักจะกล่าวถึงสถานทีได้แก่ หมู่บ้าน ตำบลที่ไปเล่น โรงหรือเวทีแสดง กล่าวถึงสิ่งของต่าง ๆ เช่น โต๊ะ เตียง เสื่อ ขันน้ำ สำรับอาหารคาวหวาน ฯลฯ และสิ่งที่จะขาดเสียมิได้คือ การลาเจ้าของงานโดยจะกล่าวถึงความสำนึกถึงในบุญคุณที่ไปหาว่าจ้างคณะเพลงมาเล่น ท้ายสุดจะร้องเพลงอวยพรเจ้าภาพและผู้ดูต่อไป
             จากรูปแบบการเล่นเพลงอีแซวสะท้อนให้เห็นถึงลำดับขั้นตอนการแสดงที่เป็นระบบ โดยมีคำร้องเฉพาะตามโอกาส ผู้แสดงสามารถเชื่อมโยงลำดับขั้นต่างๆตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงลำดับสุดท้าย โดยมีเนื้อหาที่ใช้ในการแสดงอย่างต่อเนื่อง ทั้งยังแสดงถึงปฏิภาณไหวพริบของพ่อเพลงแม่เพลงได้เป็นอย่างดี  ในปัจจุบันลำดับขั้นตอนการเล่นเพลงพื้นบ้านที่มีมาแต่โบราณเริ่มลดน้อยลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งบทไหว้ครูมักจะถูกตัดออกไปจากกระบวนการเล่นเพลง เพราะมีปัจจัยในเรื่องของเวลาที่ใช้การแสดงเป็นตัวกำหนด แต่ศิลปินภูมิปัญญาท่านก็มิได้ตัดออกไปแต่อย่างใดหากแต่สอดแทรกในพิธีกรรมของการไหว้ครูก่อนการแสดง รวมถึงเนื้อหาของเพลงที่ขับร้องเกิดการปรับเปลี่ยนบ้างตามกาลเวลา และการเข้าถึงกลุ่มผู้ฟัง ผู้ชมในยุคปัจจุบัน

             ที่กล่าวมาข้างต้น เป็นองค์ความรู้ที่เกิดจากการจัดการความรู้ (Knowledge Managment) จากศิลปินแห่งชาติ ศิลปินภูมิปัญญาเพลงพื้นบ้านของจังหวัดสุพรรณบุรี ที่ทุกท่านได้รับการถ่ายทอดจากครูเพลงในอดีตและมีประสบการณ์ในการแสดงเพลงพื้นบ้านมาอย่างยาวนาน ทำให้เกิดองค์ความรู้ที่ชัดเจนและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อวงการเพลงพื้นบ้านของไทยสืบไป






วันพุธที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2557

กระบวนการนำผลงานวิจัยมาใช้ประโยชน์กับชุมชน

กระบวนการนำผลงานวิจัยมาใช้ประโยชน์กับชุมชน

วิทยาลัยนาฏศิลปสุพรรณบุรี

....................................................




ลำดับวิธีการของกระบวนการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์กับชุมชน
1.       วางแผนการดำเนินงาน ดังนี้
- ประชุม แต่งตั้งคณะทำงาน
- วางแผนการดำเนินงาน แบ่งงาน มอบหมายหน้าที่ 
- จัดสรรงบประมาณ
- จัดสรรวัสดุอุปกรณ์ที่ต้องใช้
- วิธีการบริหารจัดการในการดำเนินงาน
- เครื่องมือที่ใช้ในการลงพื้นที่ สำรวจชุมชน ของการดำเนินงานแต่ละขั้นตอน เช่น
  ศึกษาข้อมูลเอกสาร การสังเกต การสัมภาษณ์บุคคลในชุมชน การสนทนากลุ่ม
  แบบสอบถาม แบบประเมินความพึงพอใจ โยเลือกใช้ให้เหมาะสมแต่ละขั้นตอน
2. ออกสำรวจชุมชน โดย
                   - ทำแผนที่สินทรัพย์ในชุมชน
- เดินสำรวจพื้นที่
- สัมภาษณ์  สังเกต 
- ถ่ายภาพเล่าเรื่อง 
- รวบรวมข้อมูลเพื่อหาข้อสรุปในการดำเนินงาน ในการนำผลงานวิจัยมาใช้
  ประโยชน์กับชุมชน โดยนำผลงานวิจัยที่มีอยู่แล้วไปใช้ให้เกิดประโยชน์ 
          3. การสังเคราะห์งานวิจัยให้สอดคล้องกับชุมชน ดังนี้
                             - นำข้อมูลของแต่ละชุมชนมาพิจารณาให้สอดคล้องกับผลงานวิจัยของวิทยาลัยฯ
                             - นำเสนอข้อมูล ผลการวิจัย สิ่งที่ชุมชนต้องการ ให้กับตัวแทนของชุมชนเพื่อให้เกิด
                               ประโยชน์สูงสุด
          3. ลงมือปฏิบัติงานตามแผนงานที่วางไว้ ดังนี้
- ติดต่อประสานงานกับผู้นำชุมชนเพื่อสรรหาผู้เข้าร่วมกิจกรรมจากชุมชนเป็น
  คณะทำงานร่วมกันด้วยความสมัครใจ
- กำหนด วัน เวลาและสถานที่เพื่อดำเนินการร่วมกัน
- ถ่ายทอดองค์ความรู้จากผลการวิจัยจากคณะทำงานของวิทยาลัยฯโดยวิธีการ เช่น
  บรรยาย สาธิต  ปฏิบัติ   กิจกรรมกลุ่ม  แก่คณะทำงานจากชุมชน
4. ประเมินผลการดำเนินงาน ดังนี้
                             - ตรวจสอบการดำเนินงานร่วมกันระหว่างคณะทำงานวิจัยของวิทยาลัยฯและชุมชน โดย
                               ตรวจสอบระหว่างการดำเนินงานและหลังการดำเนินงาน
                             - นำข้อมูลในที่ผ่านการตรวจสอบของการดำเนินงานมานำเสนอเพื่อหาผลสรุป
                             - ตรวจสอบการดำเนินงานว่าครบถ้วนตามวัตถุประสงค์หรือไม่
                             - สรุปผลที่ได้รับจากกิจกรรม
          5. นำผลสรุปที่ได้มาปรับปรุงในการดำเนินการครั้งต่อไป ดังนี้
                             - ประชุมคณะทำงาน เพื่อหาข้อบกพร่องของการดำเนินงาน
                             - นำข้อบกพร่องมาหาแนวทางแก้ไข
                             - แนวทางแก้ไขมาวางแผนการดำเนินงานครั้งต่อไป

ประโยชน์ที่ได้รับ
ประโยชน์ที่ชุมชนได้รับ  
ประโยชน์เชิงพาณิชย์       คือ มีการสร้างรายได้ให้กับชุมชน  จากความรู้ที่ชุมชนได้รับ
          ประโยชน์เชิงวิชาการ      คือ สมาชิกในชุมชนได้ร่วมสืบสาน ศิลปวัฒนธรรม (วิจัยทางด้าน
                                           ศิลปวัฒนธรรม)
          ประโยชน์เชิงสาธารณะ   คือ ชุมชนได้นำความรู้ที่ได้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในสังคม ชุมชนของตนตาม
                                           ศักยภาพ
         
ประโยชน์ที่วิทยาลัยได้รับ  
          ประโยชน์เชิงนโยบาย     คือ การนำงานวิจัยไปใช้ประโยชน์กับชุมชนตามนโยบายของสถาบันฯ
          ประโยชน์เชิงวิชาการ     คือ ได้ข้อมูลองค์ความรู้ทางด้านศิลปะ เพื่อนำไปสู่ชุมชน 
          ประโยชน์เชิงสาธารณะ   คือ ได้เป็นที่ยอมรับของชุมชน  และเกิดเครือข่ายศิลปวัฒนธรรม
          ประโยชน์เชิงพาณิชย์     คือ ช่วยสร้างรายได้ ให้กับวิทยาลัยจากการเผยแพร่ผลงานวิจัย

อภิธานศัพท์
1.       การวิจัยคือ กระบวนการหาความรู้ความจริงใหม่ ที่มีระบบแบบแผนตามหลักวิชา อาศัยหลักเหตุผล
ที่รอบคอบ รัดกุม ละเอียดและเชื่อถือได้ และความรู้ความจริงนั้นจะนาไปเป็นหลักการ ทฤษฎี หรือ ข้อปฏิบัติที่ทาให้มนุษย์ได้รับรู้และนาไปใช้เพื่อให้สามารถดารงชีวิตด้วยความสงบสุขหรือป้องกันและหลีกเลี่ยงภัยอันตรายต่าง ได้
2.      กระบวนการวิจัย (Research) หมายถึง กระบวนการศึกษาค้นคว้าเป็นลำดับขั้นตอน มีระบบ
ระเบียบ แบบแผน และวิธีการวิจัยที่เป็นที่ยอมรับของศาสตร์ที่เกี่ยวข้องตั้งแต่ขั้นก่อนการดำเนินงานวิจัย ระหว่างการดำเนินการวิจัย และหลังการดำเนินงานวิจัย จนถึงได้รายงานผลการวิจัย การเผยแพร่ผลงานวิจัย และการนำ
ผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์
3.      ชุมชน หมายถึง  กลุ่มคนที่อาศัยอยู่ในอาณาบริเวณภูมิศาสตร์ที่แน่นอน โดยมี วิถีชีวิต
ที่คล้ายคลึงกัน เห็นได้จากขนมธรรมเนียม ประเพณี  ใช้สิ่งที่เป็นสาธารณะประโยชน์ร่วมกัน มีการทำกิจกรรมต่างๆ    ร่วมกัน
4.      การนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ หมายถึง การนำไปใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ที่ระบุไว้ใน
โครงการ/โครงการวิจัย และรายงานการวิจัยอย่างถูกต้อง สามารถนำไปสู่การแก้ปัญหาได้อย่างเป็นรูปธรรมกับกลุ่มเป้าหมาย โดยมีหลักฐานปรากฏอย่างชัดเจนถึงการนำไปใช้ จนก่อให้เกิดประโยชน์ได้จริงตามวัตถุประสงค์ และได้การรับรองการใช้ประโยชน์จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
5.      การนำไปใช้ประโยชน์เชิงนโยบาย หมายถึง การใช้ประโยชน์จากผลงานวิจัยในการนำไปใช้ประกอบ
เป็นข้อมูลการประกาศใช้กฎหมาย หรือกำหนดมาตรการ กฎเกณฑ์ต่างๆ โดยองค์กร หรือหน่วยงานภาครัฐและเอกชน
6.      การนำไปใช้ประโยชน์เชิงพณิชย์ หมายถึง งานวิจัยที่นำไปสู่การพัฒนาสิ่งประดิษฐ์ หรือผลิตภัณฑ์ซึ่ง
ก่อให้เกิดรายได้ หรือนำไปสู่การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เป็นต้น
7.      คณะทำงาน หมายถึง  กลุ่มคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์กับชุมชน ทั้งส่วน
ของวิทยาลัยฯและในส่วนชุมชน
         8.  สินทรัพย์ในชุมชน  หมายถึง  ทรัพยากรที่มีอยู่ในชุมชนนั้นๆ ที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ 
         9.  การสังเคราะห์งานวิจัย หมายถึง ความพยายามที่จะค้นหาความสอดคล้องและพิจารณาความเปลี่ยนแปลงหรือความแตกต่างของผลการศึกษาในการศึกษาที่คล้ายกัน จุดประสงค์ของการสังเคราะห์การวิจัยคือพยายามที่จะบูรณาการงานวิจัยให้สามารถที่จะสรุปอ้างอิงได้