วันพุธที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2557

แนวทางการพัฒนางานที่มีประสิทธิภาพ



แนวทางการพัฒนางานที่มีประสิทธิภาพ

วิทยาลัยนาฏศิลปสุพรรณบุรี

............................................................................




          การพัฒนางานที่มีประสิทธิภาพ ในการบริหารงานไม่ว่าภาครัฐ หรือเอกชน ผู้บริหารและบุคลากรจะต้องมีความพร้อมต่อการแข่งขัน และพร้อมที่สามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา หน่วยงานหรือองค์กรใดที่มีการปรับปรุงและพัฒนาการบริหารงานให้มีประสิทธิภาพในการทำงานและนำมาซึ่งความเจริญก้าวหน้าขององค์กร จากการจัดกิจกรรมจัดการความรู้ ของบุคลากรวิทยาลัยนาฏศิลปสุพรรณบุรี พบประเด็นในการพัฒนากงาน โดยแบ่งออกเป็น 3 ประเด็นหลัก ดังนี้
1.       คน
2.       การบริหารจัดการ
3.        เทคโนโลยี 
1. คน
คน หมายถึง ทรัพยากรบุคลที่ปฎิบัติงานในองค์กร นับเป็นปัจจัยเบื้องต้นของการ
ทำงาน ที่ก่อให้เกิดผลผลิตและความสำเร็จของงาน  โดยจำแนกคุณสมบัติ แบ่งเป็นหัวข้อย่อย 8 หัวข้อ ดังนี้
1.1   การมีมนุษยสัมพันธ์  เป็นพฤติกรรมของบุคคลที่มาทำงานในองค์กรหรือหน่วยงาน  ที่ผู้ปฏิบัติงานร่วมกัน     ตั้งแต่  2 คนขึ้นไปมาทำงานด้วยกันซึ่งแต่ละบุคคลก็มีบุคลิกลักษณะที่แตกต่างกันไป ตามสภาพสังคมและสิ่งแวดล้อม  เมื่อในองค์กรมีผู้ปฏิบัติงานหลายๆ คน ก็จำเป็นที่แต่ละคนจะต้องปรับตัวเข้าหากัน เพื่อให้การปฏิบัติงานร่วมกันในองค์กรเป็นไปด้วยความราบรื่นเรียบร้อย      
             1.2 การมีวินัยในการทำงาน หมายถึง ข้อกำหนดเพื่อควบคุมพฤติกรรมของมนุษย์ในกลุ่มชนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งๆ เช่น กลุ่มชนในโรงเรียน  ในโรงงาน กลุ่มตำรวจ กลุ่มทหาร ประชาชนในเทศบาลหนึ่ง ประชาชนในจังหวัด ประชาชนในประเทศหนึ่งๆ หรือ กลุ่มชนในสังคมโลก แต่ละกลุ่มต่างมีข้อกำหนดให้สมาชิกในกลุ่มต้องยึดถือปฏิบัติ
             1.3 การสามัคคีในองค์กร มีความสำคัญมากในการทำงานขององค์กรของหน่วยงาน หากองค์กร หน่วยงานไหนที่มีทีมงานที่เข้มแข็งย่อมก่อให้เกิดความได้เปรียบในการแข่งขันกับองค์กร หรือหน่วยงานอื่นที่ขาดความสามัคคีกัน แนวทางในปฏิบัติ คือ สร้างบรรยากาศที่ดีในที่ทำงาน มีการสื่อสารกันอย่างชัดเจน ควรมีความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ร่วมสร้างพลังในการทำงานให้องค์กรก้าวหน้าต่อไป
             1.4 ความจริงใจต่อเพื่อนร่วมงาน มีความเห็นอกเห็นใจ เอื้ออาทร และไว้วางใจต่อเพื่อนร่วมงานความจริงใจต่อผู้อื่นเป็นของสำคัญมาก สำหรับผู้ที่ต้องการความสำเร็จและความเจริญ เพราะสามารถกำจัดปัญหาได้มากมาย      โดยเฉพาะปัญหาอันเกิดจากความกินแหนงแคลงใจ เอารัดเอาเปรียบ และคนที่จริงใจต่อผู้อื่นนั้น ย่อมได้รับความนิยม  เชื่อถือไว้วางใจร่วมมือสนับสนุน ทำการสิ่งใดจะพบความสำเร็จและราบรื่น จึงให้รักษาความจริงใจให้กันและกันอย่างมั่นคงและถาวร
          1.5 ยึดหลักคุณธรรมจริยธรรมในการทำงาน การทำงานสิ่งใดก็ตามจะให้ประสบความสำเร็จได้อย่างมีประสิทธิภาพ สร้างความสุขความพอใจต่อผู้ร่วมงานได้นั้น ทุกคนต้องยึดหลักคุณธรรม จริยธรรมในการทำงาน   คุณธรรมยังเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างผลงาน ที่ซื่อตรง ไม่ทุจริต ก่อให้เกิดผลดีแก่องค์กร หน่วยงาน สถาบัน        และประเทศชาติ
           1.6 การพัฒนาตนเอง คือการที่บุคคลพยายามที่จะปรับปรุงเปลี่ยนแปลงตนด้วยตนเองให้ดีขึ้นกว่าเดิม    เหมาะสมกว่าเดิม ทำให้สามารถดำเนินกิจกรรม แสดงพฤติกรรม เพื่อสนองความต้องการ แรงจูงใจ หรือเป้าหมาย       ที่ตนตั้งไว้ รวมถึงการศึกษาค้นคว้าหาความรู้ใหม่ ๆ ด้วยตนเองเพื่อนำมาเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานให้สูงขึ้น       การพัฒนาที่ดีควรกระทำไปอย่างต่อเนื่อง
           1.7 ยอมรับความคิดเห็นของเพื่อนร่วมงาน บุคลากรที่มีความคิดเห็นหลากหลายตามความรู้ ความสามารถ  ในสาขาต่างๆ กัน เมื่อมาทำงานในองค์กรเดียวกัน ต้องยอมรับความคิดเห็นโดยยึดหลักตามสายงานที่มีหัวหน้างาน   กำกับดูแลอยู่หรือให้หลักการแสดงความคิดเห็นตามหลักประชาธิปไตย
           1.8 มีความรู้ความเข้าใจในงานของตน เมื่อมีหน้าที่ต้องรับผิดชอบงานใดๆก็ตาม ต้องศึกษางานนั้นให้มีความรู้ความเข้าใจอย่างถ่องแท้ ชัดเจนในขอบข่าย วิธีการ แนวทาง ที่พึงปฏิบัตินำไปสู่ความตั้งใจทำงานที่ตนรับผิดชอบให้   เกิดประโยชน์สูงสุดต่อองค์กร

2. การบริหารจัดการ
    การบริหารจัดการ หมายถึง การจัดการองค์กร ที่มีกระบวนการขั้นตอน อย่างชัดเจ 
 แบ่งออกเป็นหัวข้อย่อย 4 หัวข้อ ดังนี้
             2.1 มีกระบวนการ PDCA วงจรคุณภาพ PDCA มาเป็นเครื่องมือในการบริหารงานอย่างต่อเนื่อง และนำข้อบกพร่องมาวางแผน แก้ไขในวงรอบการทำงานใหม่  PDCA  มาใช้ในกระบวนการปฏิบัติงานจะทำอย่างไรเพื่อให้ได้ผล   และมีประสิทธิภาพ ทำอย่างไรให้บุคลากรในองค์กรมีความเข้าใจและตระหนักในการนำ PDCA  มาใช้ขับเคลื่อนสำหรับการปฏิบัติงานของตน ดังนั้นจึงขออธิบายนิยามของ PDCA  ดังรายละเอียดต่อไปนี้ 
                          P คือ การวางแผน (Plan
                          D คือ การลงมือทำ (Do)
                          C คือ การตรวจสอบ งาน (Check)
                          A คือ การปรับปรุง แก้ไข งานให้ดีขึ้น (Act)
                   Plan (วางแผน) หมายถึง การวางแผนการดำเนินงานอย่างรอบคอบ ครอบคลุมถึงการกำหนดหัวข้อ  ที่ต้องการปรับปรุงเปลี่ยนแปลง ซึ่งรวมถึงการพัฒนาสิ่งใหม่ๆ การแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติงาน อาจประกอบด้วย การกำหนดเป้าหมาย หรือวัตถุประสงค์ของการดำเนินงาน Plan การจัดอันดับความสำคัญของ เป้าหมาย กำหนดการดำเนินงาน กำหนดระยะเวลาการดำเนินงาน กำหนดผู้รับผิดชอบหรือผู้ดำเนินการและกำหนดงบประมาณที่จะใช้      การเขียนแผนดังกล่าวอาจปรับเปลี่ยนได้ตามความเหมาะสมของลักษณะ การดำเนินงาน การวางแผนยังช่วยให้เราสามารถคาดการณ์สิ่งที่เกิดขึ้นในอนาคต และช่วยลดความสูญเสียต่างๆที่อาจเกิดขึ้นได้
                 Do  (ปฏิบัติตามแผน) หมายถึง การดำเนินการตามแผน อาจประกอบด้วย การมีโครงสร้างรองรับ       
กาดำเนินการ (เช่น คณะกรรมการหรือหน่วยงานของคณะ) มีวิธีการ ดำเนินการ (เช่น มีการประชุมของคณะกรรมการ   มีการจัดการเรียน การสอน มีการแสดงความจำนงขอรับนักศึกษาไปยังทบวงมหาวิทยาลัย) และมีผลของการดำเนินการ (เช่น รายชื่อนักศึกษาที่รับในแต่ละปี)
                Check (ตรวจสอบการปฏิบัติตามแผน) หมายถึง การประเมินแผน อาจประกอบด้วย การประเมิน
โครงสร้างที่รองรับ การดำเนินการ การประเมินขั้นตอนการดำเนินงาน และการประเมินผลของ การดำเนินงานตามแผนที่ได้ตั้งไว้ โดยในการประเมินดังกล่าวสามารถ ทำได้เอง โดยคณะกรรมการที่รับผิดชอบแผนการดำเนินงานนั้น ๆ   ซึ่งเป็นลักษณะของการประเมินตนเอง โดยไม่จำเป็นต้องตั้งคณะกรรมการ อีกชุดมาประเมินแผน หรือไม่จำเป็นต้องคิดเครื่องมือหรือแบบประเมิน ที่ยุ่งยากซับซ้อน
                Act (ปรับปรุงแก้ไข)   หมายถึง การนำผลการประเมินมาพัฒนาแผน อาจประกอบด้วย การนำผลการประเมินมาวิเคราะห์ว่ามีโครงสร้าง หรือขั้นตอนการปฏิบัติงานใดที่ควร ปรับปรุงหรือพัฒนาสิ่งที่ดีอยู่แล้วให้ดียิ่งขึ้นไปอีก และสังเคราะห์รูปแบบ การดำเนินการใหม่ที่เหมาะสม สำหรับการดำเนินการ ในปีต่อไป
            2.2  กำหนดที่เหมาะสมกับงาน การกำหนดคนที่เหมาะสมกับงาน โดยนำคนที่มีความรู้ ความสามารถ และทักษะเฉพาะของงานแต่ด้าน เข้ามามีส่วนร่วมในการวางแผนและปฏิบัติงานควบคู่กันไป
           2.3  มีกระบวนการทำงานเป็นทีมมีกระบวนการทำงานเป็นทีม(Teamwork) โดยการแบ่งกลุ่มย่อยและ    มอบหมายภาระหน้าที่ให้สมาชิก แต่ละคนในกลุ่มสามารถแสดงความคิดเห็น แลกเปลี่ยนความรู้ โดยเน้นการประสานงานกันเป็นทีม
           2.4  มีกระบวนการวิเคราะห์องค์กร มีกระบวนการวิเคราะห์องค์กร(SWOT Analysis) โดยนำปัจจัยภายใน (จุดแข็ง,จุดอ่อน) และปัจจัยภายนอก(โอกาส,อุปสรรค) มาวิเคราะห์สถานการณ์องค์กร โดยใช้จุดแข็งและโอกาส         ในการวางยุทธศาสตร์เชิงรุก และใช้จุดอ่อนและอุปสรรคในการวางแผนเชิงรับ

3.  เทคโนโลยี   
      เทคโนโลยี หมายถึง การนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ที่มีกระบวนการขั้นตอน แนวทางพัฒนาในรูปแบบใหม่      รวมถึงนวัตกรรม มาเป็นวิธีการปฏิบัติและประยุกต์ใช้เพื่อช่วยในการทำงานหรือแก้ปัญหาต่าง ๆ 
  3.1  มีเทคโนโลยีที่ทันสมัย  การนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในการทำงาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของงาน    ให้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น การใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ ขึ้นอยู่กับบุคลากรด้วยที่จักต้องมีความรู้ความสามารถ เรียนรู้        และมีทักษะในการนำมาใช้ได้อย่างถูกต้องเหมาะสม ด้วยความเข้าใจ รวมทั้งสามารถขยายผลให้ผู้อื่นได้เกิดการเรียนรู้  และเข้าใจด้วย จะช่วยให้การดำเนินงานประสบผลสัมฤทธิ์สูง
            3.2  มีข้อมูลสารสนเทศที่เป็นปัจจุบัน  สารสนเทศเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง เสมือนการเปิดโลกทัศน์ของ     การเรียนรู้ที่กว้างขวาง การใช้ข้อมูลสารสนเทศสามารถค้นคว้าหาองค์ความรู้และแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างหน่วยงานต่างๆในองค์กรได้ ดังนั้นจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมี ควบคู่กัน
                            ดังที่กล่าวมาข้างต้น เป็นแนวทางการพัฒนางานที่มีประสิทธิภาพ ของบุคลากร วิทยาลัยนาฏศิลปสุพรรณบุรี ที่ร่วมกันแสดงความคิดเห็น แลกเปลี่ยนประสบการณ์ ในกระบวนการจัดการความรู้ (KM)        ของฝ่ายสนับสนุน อันเป็นองค์ความรู้ที่เกิดจากประสบการณ์ตรง แนวการทำงาน ของบุคคล ความเข้าใจองค์กร           สู่กระบวนการพัฒนาที่ดี เป็นการสร้างความเข้มแข็งให้กับสถานศึกษาอย่างมั่นคงสืบไป


                                                 วิทยาลัยนาฏศิลปสุพรรณบุรี
.............................................................................................................................................................................................................

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น